ก่อนจะเป็นภาพยนตร์ ของ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ (ภาพยนตร์ชุด)

จุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจเกิดขึ้นเมื่อ ปีเตอร์ แจ็กสัน ได้เห็นภาพยนตร์การ์ตูน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ฉบับของราล์ฟ บัคชิ ปี ค.ศ.1978 จากนั้นเขาได้อ่านหนังสือเรื่องนี้ระหว่างการเดินทางบนรถไฟจากเวลลิงตัน ไปยังโอ๊คแลนด์ ขณะเมื่ออายุ 17 ปี แล้วแจ็กสันก็คิดว่า "ผมรอไม่ไหวที่จะให้ใครมาทำหนังเรื่องนี้ ผมอยากเห็นมัน!"

ปี ค.ศ.1995 หลังจากแจ็กสันทำเรื่อง The Frighteners จบลง เขาก็เริ่มคิดถึงโครงการ "เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์" เวลานั้นคอมพิวเตอร์กราฟิกแสดงให้เห็นผลสำเร็จเป็นอย่างดีแล้วจากภาพยนตร์เรื่อง จูราสสิค ปาร์ค ดังนั้น แจ็กสัน กับ แฟรน วอลช์ เพื่อนและคู่ชีวิต จึงจัดทีมขึ้นและไปนำเสนอโครงการแก่บริษัท มิราแมกซ์ (Miramax) เพื่อเจรจาเรื่องลิขสิทธิ์กับ Saul Zaentz ซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิ์ในการดัดแปลงหนังสือ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ เดอะฮอบบิท โดยจะสร้างภาพยนตร์ "เดอะฮอบบิท" หนึ่งตอน และ "เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์" สองตอน แต่ปรากฏว่า Saul Zaentz ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิ์ในการจัดจำหน่าย เดอะฮอบบิท ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ที่ไม่ค่อยลงตัวทำให้แจ็กสันต้องหันไปรับงานสร้าง "คิงคอง" ของค่ายยูนิเวอร์แซล ไปพลางก่อน แต่ในปี 1997 ทางยูนิเวอร์แซลยกเลิกโครงการสร้าง "คิงคอง" ไปชั่วคราว แจ็กสันกับวอลช์จึงหันมาศึกษาเนื้อเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ อย่างจริงจัง และเขียนบทภาพยนตร์ภาคแรกขึ้นมา

พวกเขาตั้งใจว่าภาพยนตร์ตอนแรกจะเป็น Lord of the Rings - The Fellowship of the Ring, The Two Towers และภาพยนตร์ตอนที่สองจะเป็น The Return of the King โดยภาคแรกจะจบลงที่ ซารูมานตาย แกนดัล์ฟกับปิ๊ปปิ้นเดินทางไปมินัสทิริธ โดยในบทร่างแรกยังมี กลอร์ฟินเดล เอลลาดาน เอลโรเฮียร์ และราดากัสต์ ปรากฏอยู่ด้วย เขานำบทชุดแรกและรายละเอียดโครงการไปเสนอให้แก่ผู้บริหารของมิราแมกซ์ คือฮาร์วี่และบ๊อบ ไวน์สไตน์ ผู้ไม่เคยอ่านหนังสือเรื่องนี้มาก่อน ทั้งสองพอใจและตกลงให้ทุนสร้างในวงเงิน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[4]

กลางปี ค.ศ.1997 แจ็กสันได้ ฟิลิปปา โบเยนส์ มาร่วมในทีมเขียนบทเพิ่มเติม โบเยนส์เป็นแฟนตัวยงของหนังสือเรื่องนี้ พวกเขาใช้เวลาเกือบ 14 เดือนเขียนบทภาพยนตร์ทั้งสองตอนขึ้นใหม่โดยปรับแก้หลายครั้ง เช่น ตัดลอธลอริเอนออก ให้กาลาเดรียลมาร่วมในที่ประชุมของเอลรอนด์ รวมถึงเดเนธอร์ พ่อของโบโรเมียร์ ก็เดินทางมาริเวนเดลล์ด้วย เปลี่ยนกลอร์ฟินเดลออก ให้อาร์เวนเป็นคนมาช่วยโฟรโดแทนและเป็นคนสังหารวิชคิง รวมถึงการเขียนฉากต่อเนื่องในการสู้กับโทรลล์ถ้ำของเหล่าพันธมิตรแห่งแหวน

เวลาเดียวกันนั้น ตัวแทนจากมิราแมกซ์ได้ไปเยือนนิวซีแลนด์ ผลประเมินบอกว่าภาพยนตร์สองตอนนี้จะต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้นสองเท่า กลายเป็น 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมิราแมกซ์ไม่สามารถสนับสนุนเงินทุนขนาดนั้นได้ แต่โครงการได้เริ่มไปแล้ว และได้จ่ายเงินไปแล้วถึง 15 ล้านเหรียญ ดังนั้นทางมิราแมกซ์จึงสั่งให้ยุบรวมภาพยนตร์สองตอนให้กลายเป็นตอนเดียว โดยให้ตัดฉากที่บรีและเฮล์มสดีพออก รวมโรฮันกับกอนดอร์เป็นอาณาจักรเดียวกัน แล้วให้เอโอวีนเป็นน้องสาวของโบโรเมียร์ และตัดเหตุการณ์ในริเวนเดลล์กับมอเรียให้สั้นลง การแก้ไขเนื้อเรื่องจำนวนมากทำให้แจ็กสันไม่พอใจและหยุดพักโครงการชั่วคราว ส่วนมิราแมกซ์ก็เรียกร้องว่าชิ้นงานต้นแบบที่เวต้าเวิร์คชอปจัดทำไว้ จะต้องตกเป็นสมบัติของเขา

แจ็กสันเที่ยวตระเวนไปตามค่ายหนังต่างๆ ทั่วฮอลลีวู้ดเป็นเวลาถึง 4 สัปดาห์ พร้อมกับวิดีโอต้นแบบความยาว 30 นาที จนกระทั่งเขาไปถึงบริษัท นิวไลน์ ซีนีม่า ผู้บริหารโรเบิร์ต เชย์ ถามว่าทำไมเขาจึงทำหนังเพียงแค่สองตอน ในเมื่อหนังสือเขียนเอาไว้สามตอน ทางนิวไลน์ฯ ต้องการให้สร้างภาพยนตร์ขึ้นมาเป็นไตรภาค ดังนั้นแจ็กสันกับทีมจึงต้องกลับไปเขียนบทใหม่

การขยายภาพยนตร์ออกเป็นสามตอนทำให้สามารถสร้างสรรค์รายละเอียดได้ดียิ่งขึ้น พวกเขาจัดลำดับการนำเสนอใหม่ไม่ตรงกับหนังสือนัก (เพราะลักษณะการบรรยายในหนังสือจะจับความเป็นส่วนๆ และเล่าย้อนเหตุการณ์ที่เกิดกับตัวละครอีกกลุ่มหนึ่งในภายหลังแม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน) โดยเลือกให้ 'ภารกิจของโฟรโด' เป็นหัวใจหลักของเรื่อง และ 'เรื่องของอารากอร์น' เป็นซับพล็อตหลัก เหตุการณ์ในรายละเอียดที่ไม่เกี่ยวข้องกับพล็อตหลักจะถูกตัดทิ้งไป เช่นเรื่องของ ทอม บอมบาดิล และเรื่องการรบที่ไชร์ เป็นต้น การจัดเรียงลำดับการนำเสนอใหม่ทำให้พวกเขาต้องเพิ่มเติมรายละเอียดบางอย่างที่โทลคีนไม่ได้ให้รายละเอียดไว้ในฉบับหนังสือ เช่นรายละเอียดในการสงคราม เป็นต้น

พวกเขายังปรับแก้ตัวละครเพื่อเพิ่มมิติในการนำเสนอ เช่น อารากอร์น เดเนธอร์ และทรีเบียร์ด มีปัจจัยขัดแย้งภายในตัวแตกต่างไปจากฉบับหนังสือ กาลาเดรียล เอลรอนด์ และฟาราเมียร์ ถูกทำให้หม่นขึ้น เพิ่มความน่าสงสารให้กับโบโรเมียร์กับกอลลัม เอาฉากแอ็คชั่นของกลอร์ฟินเดลกับเออร์เคนบรันด์ มาใส่ให้กับอาร์เวนและเอโอแมร์แทน บทพูดสำคัญในหนังสือก็นำมาจัดเรียงใหม่ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ โดยมีการสลับสถานที่และตัวละครผู้พูดบ้าง อย่างไรก็ดี ตัวละครอาร์เวน ซึ่งตามแผนแรกวางไว้ว่าจะให้เป็นเจ้าหญิงนักรบ ก็ได้รับการปรับแก้ให้เป็นเจ้าหญิงสูงศักดิ์ผู้ส่งเพียงแรงใจมายังแนวหน้าเหมือนดังความเดิมในหนังสือ

ใกล้เคียง

เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ (ภาพยนตร์ชุด) เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์: เดอะแบตเทิลฟอร์มิดเดิลเอิร์ธ II เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ตอน อภินิหารแหวนครองพิภพ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ตอน มหาสงครามชิงพิภพ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ตอน ศึกหอคอยคู่กู้พิภพ

แหล่งที่มา

WikiPedia: เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ (ภาพยนตร์ชุด) http://www.ew.com/ew/article/0,,20207076_20207387_... http://movies.yahoo.com/movie/1804738128/cast http://movies.yahoo.com/movie/1804738130/cast http://movies.yahoo.com/movie/1807537463/cast http://www.lordoftherings.net/ http://www.theonering.net/ http://www.goldenglobes.org/nominations/year/2003 http://www.oscars.org/74academyawards/nomswins.htm... http://www.oscars.org/75academyawards/nomswins.htm... http://www.oscars.org/76academyawards/nomswins.htm...